ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอรุณวิทยายึดหลักสูตร พุทธศักราช 2553 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นกรอบและแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆที่กำหนดไว้ในหลักสูตร รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการศึกษา กิจกรรมการเรียนการสอน การใช้สื่อและแหล่งการเรียนรู้ การวัด ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีคุณภาพในแต่ละรายวิชา ในแต่ละระดับชั้น โดยมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดศักยภาพตามพันธกิจของโรงเรียนที่กำหนดไว้ คือ
- ส่งเสริมกิจกรรมมุ่งเน้นพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม
- ส่งเสริมพัฒนาทักษะให้นักเรียนรอบรู้ด้านวิชาการและเทคโนโลยีอย่างเต็มศักยภาพ
- ส่งเสริมพัฒนาทักษะ ด้านดนตรี กีฬา และศิลปะ
- ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์ประมุข
- ส่งเสริมการรู้ รักษ์วัฒนธรรมไทยและสิ่งแวดล้อม ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
โรงเรียนมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ ช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ ความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้ทักษะชีวิตและ การใช้เทคโนโลยี
ทั้งนี้โรงเรียนได้กำหนดเป้าหมายการจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนเกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ดังนี้
- ร้อยละ 80 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ร้อยละ 60 ขึ้นไป
- ร้อยละ 70 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ร้อยละ 60 ขึ้นไป
นอกจากรายวิชาพื้นฐาน 8 กลุ่มสาระแล้ว โรงเรียนได้กำหนดรายวิชาเพิ่มเติมในแต่ละระดับเป็นต้น อังกฤษเพิ่มเติม คณิตเพิ่มเติม และคอมพิวเตอร์ ด้านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ได้กำหนดให้มีกิจกรรมแนะแนว ลูกเสือ – เนตรนารี ชุมนุม ชมรมนักศึกษาวิชาทหาร และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์
ครูผู้สอนจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้แบบ BACKWARD DISIGN เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอาศัยกระบวนการเรียนรู้อย่างหลากหลาย เช่น กระบวนการอ่าน การฟัง การเรียนทางภาษา การแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ การสร้างทักษะการปฏิบัติ การคิดสร้างสรรค์ การสร้างความรู้ความเข้าใจ การทำงาน กระบวนการกลุ่ม การเชื่อมโยง การสร้างค่านิยม การสร้างความตระหนัก การตัดสินใจ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์ บูรณาการแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้แหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน ได้แก่ ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการการงานอาชีพ ห้องศึกษาอาเซียน ห้องหมอภาษา ห้องดนตรี-นาฎศิลป์ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ ICT ห้องจริยธรรม โบสถ์วัดแม่พระฟาติมา ป้ายนิเทศ แหล่งเรียนรู้ภายนอกโรงเรียน ได้แก่ วัดวิบูลย์ธรรมาวาส วัดประชาสนธิ โรงพยาบาลทับสะแก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านหินเทิน ศูนย์ธุดงคสถานอ่าวน้อย วัดทางสาย วัดธรรมรังสี วัดเขาตะเกียบ อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง อุทยานแห่งชาติหาดวนกร อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด วนอุทยานปราณบุรี ด่านสิงขร กองบิน ๕ อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนดอนบอสโก ศูนย์ศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน สิรินาถราชินี ตลาดน้ำสามพันนาม ตลาดน้ำหัวหิน วัดห้วยมงคล เมืองโบราณ จ.สมุทรปราการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช. ฟาร์มจระเข้ พระที่นั่งวิมานเมฆ ศูนย์วาทศิลป์วัดพระศรีอารย์ บ้านศานติธรรม จ.นครปฐม พระราชวังสนามจันทร์ ซาฟารีเวิลด์ ดรีมเวิลด์ เป็นต้น และขอความร่วมมือจากวิทยากรชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน เช่น การทำขนมไข่หงส์ วุ้นมะพร้าวอ่อน ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ข้าวหลาม เต้าหู้นมสด ลูกชุบผลไม้ ร้อยมาลัยจากแป้งหอม ปาท่องโก๋ ข้าวเกรียบปากหม้อ ดนตรีไทย งานหัตถกรรมต่างๆ ได้แก่ ร้อยพวงกุญแจลูกปัด ปักเลื่อมลูกปัดบนผ้า การถักสร้อยข้อมือ ตุ๊กตาจากถุงน่อง การเพ้นท์กระเป๋าผ้า เป็นต้น